ECA 233
อาจารย์เภสัชจุฬาฯ วิจัยใบบัวบกมีฤทธิ์ช่วยสมานแผล
ใบบัวบกเป็นผักพื้นบ้านของไทยที่คนโบราณรู้ในสรรพคุณทางยา โดยจะใช้ใบสดตำละเอียดแล้วนำไปพอกบริเวณที่เป็นแผลเปื่อยในช่องปาก แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ช่วยในการสมานแผลและสามารถทำให้แผลที่เกิดลายนูนลดน้อยลง จากการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์พบว่าใบบัวบกมีสารออกฤทธิ์ คือกรด Madecassic กรด Aslatic และ Aslaticoslde สามารถเร่งเนื้อเยื่อ และระงับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดหนอง และลดการอักเสบ รวมทั้งยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราได้อีกด้วย
ร.ศ.ภญ.ดร.มยุรี ตันติสิระ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯหนึ่งในคณะผู้วิจัยที่ศึกษาวิจัยเรื่อง“โครงการศึกษาฤทธิ์และความเป็นพิษของสารสกัดมาตรฐานบัวบก” เปิดเผยว่า สารสกัดมาตรฐานบัวบกมีความจำเป็นในการทำงานวิจัยเนื่องจากตัวสมุนไพรมีฤทธิ์ทางยาไม่แน่นอน และสารบริสุทธิ์มีราคาแพงมาก มีการผลิตสารสกัดมาตรฐานบัวบกในหลายประเทศ แต่ละประเทศจะมีชื่อเรียกสารดังกล่าวเป็นของตนเอง และจะมีมาตรฐานส่วนประกอบสารที่แตกต่างกันไป ซึ่งการทำงานวิจัยในแต่ละประเทศก็จะทำตามมาตรฐานของตนเท่านั้น ประเทศอื่นจะนำมาใช้อ้างอิงไม่ได้ คณะวิจัยจึงใช้เวลากว่า ๕ ปีในการหาสารสกัดมาตรฐานบัวบกที่จะนำมาใช้ในการทำงานวิจัยของประเทศไทย โดยขั้นตอนในการศึกษาวิจัยเริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์บัวบก แหล่งที่ปลูก และนำผลผลิตตั้งแต่รากไปถึงจนก้านใบที่ออกตามฤดูกาล ทดลองตรวจหาสารออกฤทธิ์ รวมไปถึงการตรวจสอบปริมาณแสง สภาพดิน และปริมาณน้ำ โดยเบื้องต้นได้นำใบบัวบกสดจำนวน ๑,๐๐๐ กิโลกรัมมาทำให้แห้งเหลือ ๒๐๐ กิโลกรัม นำไปหั่นละเอียดและสกัดออกมาเป็นผงสีขาว เป็นสารออกฤทธิ์ในอัตราปริมาณ ๒ กิโลกรัม ก่อนจะนำไปตรวจทางเคมีเบื้องต้น เมื่อทราบผลจึงนำสารไปทดสอบกับหนูทดลอง ปรากฏว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์เร่งการสมานแผล ทั้งในบาดแผลกรีดด้วยของมีคมและแผลไฟไหม้ เมื่อนำไปทดลองแก้ไขสภาวะการบกพร่องของการเรียนรู้และทางความจำ โดยใช้วิธีปิดกั้นหลอดเลือดที่ขึ้นไปเลี้ยงสมองชั่วคราวเพื่อให้หนูทดลองเกิดอาการเรียนรู้ช้าและลืม แล้วทดสอบด้วยการป้อนสารสกัดติดต่อกัน ๙๐ วัน พบว่าหนูทดลองมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้นจนใกล้เคียงกับหนูทดลองปกติ จากนั้นเป็นการทดสอบความเป็นพิษ โดยให้สารสกัดบัวบกแก่หนูทดลอง ๓ ขนาด ได้แก่ ๑๐ มิลลิกรัม ๑๐๐ มิลลิกรัม และ ๑,๐๐๐ มิลลิกรัม เป็นเวลา ๓ เดือน พบว่า ไม่มีหนูทดลองทั้งเพศผู้และเพศเมียตัวใดตาย อีกทั้งยังมีการเจริญเติบโตที่เป็นปกติ เมื่อผ่าตัดดูเนื้อเยื่อก็ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด แสดงให้เห็นว่ามีความปลอดภัยในระดับสูง นอกจากนี้ในขั้นตอนสุดท้ายยังมีการเปลี่ยนสารเป็นสีขาวนวลเพื่อเพิ่มความสะดวกในการรักษาแผล เนื่องจากสารสกัดบัวบกทั่วไปจะมีสีเขียวคล้ายกับแผล เมื่อมาใช้ในการสมานแผลจะทำให้การวินิจฉัยเป็นไปได้ยาก
สำหรับการต่อยอดเพื่อใช้ประโยชน์จากสารดังกล่าว ศ.ภญ.ดร.มยุรี กล่าวว่า จะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมถึงการใช้สารสกัดมาตรฐานบัวบกร่วมกับยาตัวอื่นว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันอย่างไร และจะนำมาทดลองในคน โดยเริ่มจากการทดลองกับแผลร้อนในว่าจะทำให้แผลหายเร็วขึ้นและลดอาการแสบร้อนหรือไม่ และในปี ๒๕๕๑ นี้ได้มีการทำวิจัยร่วมกับอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ในการพัฒนาสารเพื่อนำไปรักษาโรคสะเก็ดเงิน และในอนาคตจะมีการวิจัยเพื่อนำไปใช้รักษาภาวะผมร่วงและภาวะหลงลืมต่อไป
ผลงานวิจัยเรื่อง“โครงการศึกษาฤทธิ์และความเป็นพิษของสารสกัดมาตรฐานบัวบก” ซึ่งมี รศ.ภก.ดร.เอกรินทร์ สายฟ้า ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย แล้วเสร็จเมื่อปลายปี ๒๕๕๐ คณะผู้วิจัยได้ร่วมกับสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาฯ ดำเนินการยื่นจดสิทธิบัตรกระบวนการเตรียมสารสกัดมาตรฐานบัวบก โดยตั้งชื่อสารสกัดว่า ECa 233 และมีบริษัทภาคเอกชนนำเทคโนโลยีไปต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรม